Friday, May 2, 2014





โรงเรือนไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ผู้ปลูกสามารถปลูกในพื้นที่โล่งแจ้งได้เช่นเดียวกับการปลูกโดยใช้ดิน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ผู้ปลูกนิยมปลูกในโรงเรือน ทั้งนี้เพราะผู้ปลูกได้รับประโยชน์หลายอย่างจากการปลูกในโรงเรือน เช่น
  1. สามารถป้องกันแมลงไม่ให้เข้าไปทำลายพืชที่ปลูก ทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ผู้บริโภคพืชผักที่ปลูกโดยวิธีนี้จึงมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในผลผลิต
  2. ป้องกันน้ำฝนลงไปเจือปนในสารละลายธาตุอาหาร จนสารละลายเจือจางเกินไปไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช และมีปริมาตรที่เพิ่มขึ้นจนไหลล้นออกมาจากเครื่องปลูก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับการปลูกพืชทั้งระบบ
  3. สามารถควบคุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของพืช เช่น ความเข้มแสง ระยะเวลาที่พืชรับแสง ความเข้มข้นของแก๊ส CO2 และอุณหภูมิ เป็นต้น ทำให้สามารถผลิตพืชได้ทั้งปี โดยไม่ต้องอาศัยฤดูกาลตามธรรมชาติเข้าช่วย ผู้ปลูกสามารถวางแผนการผลิตได้ง่าย และเสี่ยงต่อการแปรปรวนของธรรมชาติน้อยกว่าการปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง
  4. สามารถออกแบบให้เป็นการผลิตอัตโนมัติ เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ง่าย ช่วยประหยัดแรงงานในการดำเนินการ
  5. ลดโอกาสในการสัมผัสสิ่งสกปรก ทำให้พืชที่ผลิตได้ สะอาดไม่เป็นพาหะนำโรค
  6. สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์พยุงลำต้น อุปกรณ์แขวนผล เป็นต้น ได้ง่าย และอาจติดตั้งเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้งานติดต่อกันได้หลายฤดูปลูก
  7. มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี และสะอาดไม่เปื้อนดินโคลน ช่วยให้ผู้ปลูกมีความเพลิดเพลินในการทำงานมากกว่า
โรงเรือนอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ปลูกในบางประเด็น โดยเฉพาะต้นทุนในการก่อสร้าง สินค้าเกษตรมักเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงผู้ลงทุนจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม นอกจากนี้โรงเรือนยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการผสมเกษรของพืช แมลงธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อการผสมเกษรไม่สามารถเข้าไปช่วยผสมเกษรได้ ผู้ปลูกจึงควรเลือกชนิดของพืชที่ไม่ได้รับผลกระทบในการผสมเกษร เช่น พืชที่มีดอกสมบูรณ์เพศ หรือพืชกินใบ เป็นต้น

โรงเรือนสำหรับปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินควรประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
  1. ส่วนที่ใช้ปลูกพืช เป็นส่วนที่จะใช้ติดตั้งเครื่องปลูก หลังคาควรทำด้วยวัสดุโปร่งใส เพื่อให้แสงสามารถส่องผ่านไปยังพืชได้ พืชบางชนิดต้องการแสงน้อย ดังนั้นโรงเรือนปลูกพืชอาจต้องใช้แผ่นพลาสติกลดความเข้มแสง โรงเรือนส่วนนี้อาจแบ่งออกเป็นโรงเรือนเพาะต้นกล้า อนุบาลต้นกล้า และโรงเรือนปลูก ภายในโรงเรือนปลูกอาจแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ (segment) เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมการระบาดของโรค และวางแผนการผลิตได้ง่ายขึ้น
  2. ส่วนที่ใช้ติดตั้งระบบปรับสภาพสารละลายและเตรียมสารละลาย รวมทั้งส่วนที่ใช้เตรียมน้ำสะอาด โรงเรือนส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้หลังคาโปร่งใส อาจสร้างรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของส่วนแรก หรือสร้างเป็นอาคารแยกอิสระต่างหากก็ได้ การออกแบบและการวางตำแหน่งควรคำนึงถึงความสะดวกในการรับ-จ่ายสารละลายไปยังโรงเรือนส่วนที่ 1 โดยทั่วไปมักออกแบบให้อยู่ไม่ไกลจากส่วนที่ 1
  3. ส่วนที่ใช้สำหรับกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว กิจกรรมหลังเก็บเกี่ยวมีหลายอย่าง เช่น การล้าง การตัดแต่ง การคัดเกรด ห้องเย็น และการบรรจุหีบห่อ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก การวางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ส่วนที่ 1 และ 2 แต่ระยะทางที่ไกลเกินไปอาจเป็นอุปสรรคในการลำเลียงผลผลิต
  4. ส่วนที่ใช้เก็บวัสดุ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินไม่ว่าระบบใด มีการใช้วัสดุต่างๆ จำนวนมากและหลายชนิด ดังนั้นผู้ปลูกจึงจำเป็นต้องเตรียมโรงเรือนส่วนนี้ไว้ และอาจแบ่งเป็นส่วนๆ ตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ส่วนที่ใช้เก็บเครื่องจักร อะไหล่ของเครื่องจักร และน้ำมัน ส่วนที่ใช้เก็บเครื่องปลูกและวัสดุค้ำจุนราก และส่วนที่ใช้เก็บวัสดุที่ใช้ในกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว เป็นต้น แต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องอยู่ในอาคารเดียวกัน อาจไว้ใกล้บริเวณใช้งานเพื่อความสะดวกในการขนย้าย ควรเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในบริเวณที่มีการเก็บวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง
  5. ส่วนที่ใช้เป็นสำนักงาน ส่วนนี้ใช้สำหรับการดำเนินงานด้านบริหารจัดการ เช่น การจัดทำและจัดเก็บเอกสารต่างๆ การติดต่อกับหน่วยงานภายนอก การประชุม และการพักผ่อน เป็นต้น ส่วนนี้ไม่จำเป็นนักหากเป็นกิจการขนาดเล็ก หรือกิจการภายในครัวเรือน
ส่วนต่างๆ ที่กล่าวอาจแยกเป็นโรงเรือนอิสระ หรือรวมอยู่ภายในโรงเรือนเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและขนาดของกิจการ


โรงเรือนสำหรับปลูกพืชมีหลายรูปแบบ การเลือกหรือการออกแบบออกแบบโรงเรือนที่เหมาะสมต่อความต้องการ จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างของพื้นที่ก่อสร้างโรงเรือนประกอบกัน ได้แก่
  • ลักษณะภูมิอากาศ เช่น อากาศร้อนในบางฤดูและหนาวมากในบางฤดู ฝนตกหนักในบางฤดู อากาศแห้งในบางฤดู และลมแรงในบางฤดู เป็นต้น
  • ลักษณะภูมิประเทศ เช่น พื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ลาดชัน หรือพื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ลุ่มน้ำขังในบางฤดู เป็นต้น
  • ระบบปลูกที่เลือกใช้ การติดตั้งอุปกรณ์ของระบบปลูกแต่ละระบบแตกต่างกัน จึงต้องออกแบบรายละเอียดภายในโรงเรือนที่แตกต่างกัน ระบบปลูกที่ต้องการการหมุนเวียนสารละลาย อาจต้องสร้างหลุมในโรงเรือนเพื่อวางถัง
  • ชนิดของพืชที่ต้องการปลูก พืชจำพวก แตงและมะเขือเทศ จำเป็นต้องออกแบบให้มีเครื่องค้ำจุนลำต้น ในขณะที่ผักไม่จำเป็นต้องมี โรงเรือนสำหรับปลูกกล้วยไม้และหน้าวัวจำเป็นต้องมีการพรางแสง
  • ปริมาณการผลิต และความแปรปรวนในรอบปี ราคาพืชส่วนใหญ่แปรปรวนตามปัจจัยด้านการตลาด การผลิตจึงอาจจำเป็นต้องหมุนเวียรปลูกพืชหลายชนิดสลับกัน เพื่อเลือกพืชราคาเหมาะสมในฤดูนั้นๆ โรงเรือนจึงจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการปลูกพืชหลายชนิด
  • การระบาดของศัตรูพืช พื้นที่ซึ่งมีการระบาดของศัตรูพืชรุนแรง จำเป็นต้องเข้มงวดในการป้องกัน หรือสลับไปปลูกพืชชนิดอื่นในฤดูที่มีการระบาด จึงต้องออกแบบโรงเรือนในตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้ เพื่อลดความเสียหาย
  • ทุนและแหล่งทุนของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่มีทุนน้อยอาจจำเป็นต้องเลือกสร้างโรงเรือนราคาถูกก่อนในระยะเริ่มต้น
  • ขนาดพื้นที่ การสร้างโรงเรือนในพื้นที่น้อย จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ในลำดับต้นๆ ของการตัดสินใจ ในขณะที่การออกแบบโรงเรือนในพื้นที่กว้างสามารถพิจารณาปัจจัยอื่นก่อน
  • ลักษณะการใช้ประโยชน์ โรงเรือนที่ต้องการปลูกพืชเพื่อการจัดแสดง จำเป็นต้องคำนึงถึงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมในลำดับต้นๆ ในขณะที่โรงเรือนเพื่อการผลิต ควรคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนเป็นลำดับต้นๆ
รูปแบบโรงเรือนสามารถจำแนกตามรูปทรง ได้ดังนี้
1. โรงเรือนหลังคาหน้าจั่วแบบสมมาตร (even span หรือ single span) เป็นรูปแบบโรงเรือนที่ใช้กันแพร่หลายในเขตอบอุ่นและเขตหนาว หลังคาอาจออกแบบให้เปิดได้เพื่อระบายอากาศร้อนในฤดูร้อน รูปแบบอาคารแบบนี้ไม่ค่อยเหมาะสำหรับประเทศในเขตร้อน (รูปขวา : โรงเรือนปลูกพืชเพื่อการจัดแสดง ณ สวนพฤษศาสตร์ฯ จังหวัดเชียงใหม่)

2. โรงเรือนหลังคาหน้าจั่วสองชั้น อาคารรูปแบบนี้สร้างขึ้นเพื่อให้อากาศร้อนภายในอาคารระบายออกได้ดี แม้ในช่วงฝนตกน้ำฝนก็ไม่สาดเข้ามาภายในอาคารโรงเรือน อาคารรูปแบบนี้เหมาะสำหรับประเทศในเขตร้อน

3. โรงเรือนหลังคาหน้าจั่วแบบไม่สมมาตร (uneven span) โรงเรือนแบบนี้จะมีหลังคาด้านหนึ่งยาวกว่าอีกด้านหนึ่ง เหมาะสำหรับการก่อสร้างในพื้นซึ่งเป็นเนินเขา

4. โรงเรือนหลังคาครึ่งวงกลม (quonset) เป็นแบบโรงเรือนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในเขตอบอุ่นและเขตหนาวอีกแบบหนึ่ง การก่อสร้างไม่ซับซ้อนมากนัก เหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการมุงหลังคาด้ววัสดุที่โค้งงอได้ง่าย เช่น แผ่นพลาสติกชนิดต่าง ๆ การระบายอากาศร้อนทำได้ยากจึงไม่เหมาะสำหรับประเทศในเขตร้อน

5. โรงเรือนหลังคาครึ่งวงกลมเหลื่อม เป็นโรงเรือนที่ออกแบบให้ง่ายต่อการระบายอากาศร้อน เนื่องจากหลังคามีช่องเปิด โรงเรือนแบบนี้จึงเหมาะสำหรับประเทศในเขตร้อน (รูปขวา : )

6. โรงเรือนหลังคาครึ่งทรงกลม (dome) โรงเรือนแบบนี้ยากต่อการขยายให้ครอบคลุมพื้นที่กว้าง จึงไม่ค่อยนิยมสร้างสำหรับการผลิตพืชในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อให้มีจุดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมใน Botanical Garden หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

7. โรงเรือนหลังคาต่อเนื่อง (ridge and furrow) โรงเรือนแบบนี้จะสร้างหลังคาแบบหน้าจั่วหรือครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน เพื่อให้โรงเรือนคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และมีค่าก่อสร้างต่ำกว่าการสร้างหลังคาเดี่ยวขนาดใหญ่ (รูปขวา : โรงเรือนปลูกพืชทดลอง ณ มหาวิทยาลัย Wagenningen ประเทศเนเธอร์แลนด์)

8. โรงเรือนขนาดเล็ก โรงเรือนขนาดใหญ่ช่วยให้สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรือนได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียหลายอย่า เช่น เสียพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทางเดินและลำเลียงวัสดุ ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นในส่วนที่ไม่จำเป็นนี้ ค่าก่อสร้างแพงและต้องใช้เงินลงทุนครั้งละมากๆ และแก้ไขได้ยากเมื่อเกิดการระบาดของโรคหรือแมลง เป็นต้น ในพื้นที่เขตร้อนของโลก ซึ่งมีอุณหภูมิสูงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืชตลอดทั้งปี การสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อเก็บความร้อนให้มีอุณหภูมิสูงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืชจึงไม่จำเป็น โรงเรือนขนาดเล็กที่มีเพียงหลังคากันฝน หรือมีมุ้งกันแมลงก็เพียงพอต่อการปลูกพืช นอกจากนี้ เกษตรกรยังไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงในครั้งเดียว สามารถวางแผนการผลิตได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่ำ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรในหลายพื้นที่ (รูปบนขวา : โรงเรือนขนาดเล็กในประเทศบราซิล รูปล่างขวา : โรงเรือนขนาดเล็กเพื่อการปลูกพืชสาธิต ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดกระบี่ รูปล่าง : โรงเรือนขนาดเล็กเพื่อการปลูกพืชทดลองของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)

0 comments:

Post a Comment