Wednesday, September 11, 2013

การปลูกเมล่อน

สภาพดินที่เหมาะสมในการปลูกเมล่อนคือดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี เมล่อนเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง แต่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอสภาพความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง ph 6.5-7 หรือสภาพดินที่เป็นกลาง สภาพอากาศที่เหมาะสมคืออากาศที่อบอุ่น มีแสงแดดอย่างเพียงพอและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ในช่วงของการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ ส่วนในระยะผลแก่เมล่อนจะต้องการน้ำน้อยและเป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25-35 องศาเซลเซียสจะมีการเติบโตและออกผลผลิตได้ดีในช่วงฤดูร้อน และการเจริญเติบโตจะช้าลงในช่วงของฤดูหนาว
เทคนิคการเตรียมการปลูก เตรียมดินโดยการไถ 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้ผานเบอร์ 3 ส่วนครั้งที่ 2 ใช้ผานเบอร์ 7 ผสมปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้ว ในอัตราส่วน 1 ตันต่อไร่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมคลุกเคล้าปุ๋ยให้ทั่วบนแปลง ยกแปลงตามวิธีการปลูก ถ้าปลูกแบบให้เลื้อยดินควรยกแปลงกว้างขนาด 3.5-4.0 เมตรถ้าปลูกแบบขึ้นค้างควรยกแปลงกว้าง 1 เมตรย่อยดินให้ละเอียดพอสมควรแต่งแปลงให้มีความกว้างบนแปลง 80 เซนติเมตร สูง 15-20 เซนติเมตร ปูฟางบนพื้นแปลงและร่องระหว่างแปลง หรืออาจใช้วัสดุอื่มคลุมแปลงก็ได้ มาดูในส่วนของวิธีการปลูกกันบ้างครับ โดยการปลูกเมล่อนหรือแตงเทศสามารถปลูกได้ 2 แบบด้วยกัน คือ การหยอดเมล็ดโดยตรง วิธีนี้ส่วนมากจะไม่ค่อยนิยม และอีกวิธีหนึ่งก็คือการเพาะกล้าแล้วย้ายมาปลูก โดยการเพาะกล้าในถาดเพาะ จะประหยัดเมล็ด โตเร็ว ต้นกล้ามีความแข็งแรง
ระบบการปลูกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ วิธีแรกคือวิธีการปลูกให้เมล่อนเลื้อยตามผิวดิน เกษตรกรโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการปลูกแบบนี้ เพราะไม่ต้องลงทุนในการสร้างโรงเรือน แต่ผลเสียของการปลูกแบบนี้คือ ไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ไม่หวาน สะสมโรคแมลงขายไม่ได้ราคา จึงไม่แนะนำให้ปลูกวิธีนี้ และการปลูกแบบขึ้นค้าง การปลูกแบบนี้เป็นที่นิยมโดยทั่วไป โดยปักค้างให้ห่างจากหลุมปลูกประมาณ 10 เซนติเมตรทำค้างแบบกระโจมสามเหลี่ยมแล้วผูกลำไม้ที่ทำค้าง อาจทำราวเพียงชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ได้ ขึ้นราวห่างจากพื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตรหรือชั้นที่สองให้สูงจากพื้นดิน 150-180 เซนติเมตรราวชั้นแรกทำเพื่อแขวนผล ส่วนราวชั้นที่สองทำเพื่อพยุงส่วนยอด เมื่อเถายาวประมาณ 40 เซนติเมตรจัดเถาให้เลื้อยขึ้นค้าง โดยใช้เชือกฟางฉีกเป็นเส้นเล็กๆมัดตรงเถาพยุงไว้กับไม้ค้าง โดยเรียกวิธีการนี้ว่าการผูกยอดระยะปลูกระหว่างแปลงประมาณ 80 เซนติเมตร(ระยะห่างระหว่างแปลงยิ่งมากเท่าไร ยิ่งทำงานสะดวกมากขึ้น)

การให้น้ำ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรก เป็นระยะที่มีการเจริญเติบโตของลำต้น ตั้งแต่ปลูกจนอายุ 35-40 วัน หรือก่อนการออกดอก ควรให้น้ำอย่างเพียงพอ อย่าปล่อยให้ดินแห้ง ให้ดินมีความชื้นแต่อย่าให้แฉะ เพราะจะทำให้เกิดโรคเน่าคอดินได้ง่าย การให้น้ำในระยะที่สอง เป็นระยะที่มีการผสมเกสร ควรลดปริมาณน้ำลงเล็กน้อยแต่อย่าให้ดินแห้ง พยายามอย่าให้น้ำถูกดอกเพราะจะทำให้ละอองเกสรตายได้ ระยะที่สาม เป็นระยะหลังติดผลและมีการเจริญเติบโตเต็มที่ของผลควรให้น้ำเต็มที่เหมือนกับระยะแรก ถ้าขาดน้ำในช่วงนี้ผลจะแกร็นแจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่วนระยะที่สี่ เป็นระยะที่มีการคุณภาพ ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณ 15-20 วันก่อนเก็บเกี่ยว จะลดปริมาณการให้น้ำลงเรื่อยๆจนกระทั่งหยุดให้น้ำและปล่อยให้ดินแห้งก่อนเก็บเกี่ยว 5 วัน เพื่อให้ผลของเมล่อนมีรสชาติหวาน
การใส่ปุ๋ยทางดิน แบ่งใส่ 4 ระยะ คือ ระยะแรก ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ กับปุ๋ยคอก 1 ตัน/พรวนให้เข้ากันบนแปลงปลูก ระยะที่สอง เมื่ออายุได้ 15-20 วัน หลังย้ายปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรยรอบโคนต้นห่างจากโคนต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วให้น้ำตาม ระยะที่สาม เมื่อเมล่อนมีอายุได้ 40-45 วัน หลังทำการย้ายปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่โรยตามขอบแปลงแล้วให้น้ำตาม ระยะที่สี่ระยะสุดท้าย เมื่อเมล่อน อายุ 55-60 วัน หลังย้ายปลูกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 8-24-24 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรยในร่องระหว่างแปลงแล้วให้น้ำตาม
ส่วนการผูกยอดและการเด็ดยอด เมื่อเมล่อนทอดยอด ควรใช้เชือกฟางผูกหลวมๆบริเวณใต้ข้อปล้องที่ 2-3 จากยอดยึดกับค้างโดยผูกทุกๆ3 ปล้อง ปกตินั้นค้างจะมีความสูงประมาณ 150-180 เซนติเมตรควรเด็ดยอดทิ้งเมื่อเมล่อนมีความสูงประมาณ 140 เซนติเมตร

การตัดแขนงและการไว้ผล จะเริ่มไว้ผลตั้งแต่ข้อที่ 9-12 หรือสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตรโดยการเด็ดแขนงที่แตกจากข้อที่ 1-8 ออกให้หมด ผลที่ไว้นั้นให้เหลือใบไว้กับผล 2 ใบ และควรเก็บใบไว้เหนือผลขึ้นไป 12-15 ใบ เพื่อไว้เลี้ยงผล เมื่อผลมีขนาดโตเท่าไข่ไก่ก็เลือกผลที่ดีที่สุดไว้ 1 ผล ส่วนผลที่เหลือเด็ดทิ้งทั้งหมด หลังจากที่เลือกผลที่ดีที่สุดแล้วใช้เชือกฟางทำเป็นบ่วงคล้อง ระวังอย่าให้เชือกฟางรัดที่บริเวณขั้วผล เพราะจะทำให้ผลของเมล่อน เจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อทำการคล้องผลเสร็จแล้วให้นำปลายเชือกอีกปลายหนึ่งไปผูกไว้กับค้าง

การเก็บเกี่ยว สำหรับเมล่อนจะมีอายุตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 70-80 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธ์ และช่วงฤดูในการปลูก สำหรับเมล่อนที่ปลูกในช่วงฤดูร้อนผลจะสุกเร็วมากกว่าช่วงฤดูหนาว เมล่อนจะเริ่มติดผลเมื่อมีอายุ 35-40 วัน หลังจากวันที่เริ่มปลูก โดยระยะนี้ผลจะเริ่มมีขนาดเท่ากับไข่ได่เกษตรกรสามารถทำการห่อผลเมล่อนได้เลย หลังจากห่อผลเมล่อนไปอีกประมาณ 1 เดือนก็จะสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และนอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่เกษตรสามารถนำไปสังเกตว่าเมล่อนที่ท่านปลูกสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อใดดังนี้ครับ
1.สังเกตที่รอยแยกของขั้ว ให้สังเกตระหว่างขั้วกับผล ถ้าสังเกตว่ามีรอยร้าวสีน้ำตาลเกิดขึ้นก็แสดงว่าสมารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
2.สีของผลเมล่อน สีของผลนั้นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีครีมหรือสีเหลือง สีขาวขุ่นปนเหลืองหรือสีนวล ก็สามารถเก็บผลผลิตได้
3.รอยนูนของร้างแหบริเวณเปลือกของเมล่อน
4.บางพันธ์จะมีกลิ่นหอม สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย
5.การนับอายุ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งวิธีนี้คุณกิตติบอกว่าได้ผลดี ทำให้กำหนดและวางแผนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างแม่นยำและเป็นผลดีทางด้านการตลาด ซึ่งจริงๆแล้วเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิตดังกล่าวอาจจะไม่ตอบสนองต่อการเก็บเกี่ยวผลเมล่อนเสมอไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกด้วย
เคล็ดลับในการปลูกเมล่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตดีเป็นที่ต้องการของตลาด คุณกิตติมีเทคนิคดังนี้ครับ เมื่อเมล่อนมีอายุประมาณ 40 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 เพื่อให้ผลของเมล่อนนั้นมีรสชาติหวาน หลังจากที่เมล่อนติดผลแล้วให้เลือกผลที่ดีที่สุดไว้เพียงผลเดียวเท่านั้นครับ และการควบคุมน้ำก่อนการเก็บเกี่ยว ควรงดให้น้ำ 5-7 วันก่อนการเก็บเกี่ยวจะทำให้ผลของเมล่อนมีรสชาติหวานน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดครับ สำหรับผลผลิตที่ไร่เมล่อนแห่งนี้จะคัดแต่ผลของเมล่อนที่มีคุณภาพส่งไปขายยังตลาดที่สั่งซื้อผลผลิต เช่น ห้างเดอะมอลล์ จัสโก้ เป็นต้น จนลูกค้าเชื่อใจในคุณภาพของผลผลิตที่นี่ การันตีด้วย GAP ปลอดภัยต่อผู้บริโภคแน่นอนครับ แหม …พูดยังไม่ทันขาดคำก็มีลูกค้าเข้ามาซื้อถึงที่กันเลยที่เดียว ก่อนเดินทางกลับคุณกิตติ ได้นำลูกเมล่อนจำนวนหลายลูกนำมาใส่กล่องเพื่อเป็นของฝากสำหรับพวกเราทีมงานอีกด้วย

0 comments:

Post a Comment